วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

ประวัติ"เมล็ดกาแฟ"

     กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันทั่วทุกมุมโลก หลายชาติจะมีสไตล์เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นของตัวเองตั้งแต่ดั่งเดิมมา ทั้งวัตถุดิบ เมล็ดกาแฟ การคั่ว วิธีการชง และส่วนผสมเพิ่มเติมต่างๆ แต่หากพูดถึงแหล่งต้นกำเนิดเครื่องดื่มยอดนิยมนี้แล้ว มีหลายตำนานได้กล่าวไว้แตกต่างกัน ทั้งการค้นพบ การแพร่หลายของกาแฟ แต่ที่กล่าวถึงมากที่สุดคือเรื่องของ แพะเต้นระบำนั่นเอง
 งานเขียนชิ้นนี้จึงต้องการนำเสนอ”กาแฟ”ในทางประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงการดื่มกาแฟโดยเน้นเปรียบเทียบการบริโภคในเอเชียกับยุโรปและอเมริกา ซึ่งจะเน้นดินแดนตะวันออกกลางเป็นสำคัญ เนื่องจากการที่เป็นถิ่นกำเนิดและแหล่งผูกขาดการค้ากาแฟที่สำคัญก่อนการกระจายแหล่งปลูกกาแฟไปยังอาณานิคมตะวันตกในภูมิภาคอื่น ที่จะแสดงให้เห็นถึงการกลับมาของกาแฟสู่ดินแดนถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงการบริโภคกาแฟในตะวันออกกลางไปเกือบโดยสิ้นเชิง แต่เนื่องจากขอบเขตของการศึกษาเน้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของกาแฟและพัฒนาการการดื่มในภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงจะไม่กล่าวถึงปัญหาการค้าขายกาแฟที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกาและแอฟริกาเป็นหลักใหญ่

เมล็ดกาแฟที่แตกต่าง

ภาพเขียนทางพฤกษศาสตร์
ของต้นกาแฟสายพันธุ์อาราบิกา (Arabica)
    กาแฟเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณทวีปแอฟริกา ช่วงต้นนั้นกาแฟเป็นพืชป่าจนกระทั่งได้ถูกนำมาปลูกในดินแดนอาระเบีย ก่อนจะแพร่หลายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เช่น ละตินอเมริกา อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น สายพันธุ์กาแฟนั้นมีอยู่มากมายหลากหลาย แต่สายพันธุ์ที่มีการบริโภคหลักๆ มีอยู่ ๒ สายพันธุ์ ได้แก่ คอฟเฟ่ คาเนโฟรา(Coffea Canephora) หรือที่รู้จักในชื่อ คอฟเฟ่ โรบัสตา (Coffea Robusta) ซึ่งมีต้นกำเนิดบริเวณภาคกลางและตะวันตกของแอฟริกา กับคอฟเฟ่ อาราบิกา (Coffea Arabica) ซึ่งสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดในเอธิโอเปียและเยเมน
ทั้ง ๒ สายพันธุ์นี้มีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย คือ สายพันธุ์อาราบิกาเป็นสายพันธุ์แรกที่มีการค้นพบ มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวเร็วกว่าเล็กน้อย ต้องการน้ำน้อยกว่า และมีการพัฒนาสายพันธุ์มากกว่า ขณะเดียวกันอาราบิกาก็มีการดูแลรักษายากกว่า อ่อนแอทั้งต่อศัตรูพืชและโรค และยังให้ผลผลิตน้อยกว่าสายพันธุ์โรบัสตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ค้นพบโดยชาวยุโรปในปลายศตวรรษที่ ๑๙ มีรสชาติขมกว่า และปลูกมากในหลายประเทศทั้งในละตินอเมริกา อินเดีย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามและไทย กาแฟทั้ง ๒ สายพันธุ์นี้ได้กลายเป็นกาแฟสายพันธุ์สำคัญที่ถูกใช้ทางการค้านับตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๕ โดยสายพันธุ์อาราบิกาจะเป็นสายพันธุ์แรกที่เข้าสู่ระบบการค้า ตามมาด้วยสายพันธุ์โรบัสตาในศตวรรษที่ ๒๐

จากเมล็ดกาแฟสู่เครื่องดื่มของโลกอิสลาม

บรรยากาศภายในร้านกาแฟในจักรวรรดิออตโตมัน ช่วงศตวรรษที่ ๑๙
    ในการค้นพบกาแฟครั้งแรกนั้น มีหลักฐานเป็นเพียงตำนานเรื่องเล่าอยู่มากมาย เช่น ตำนานแพะเต้น ซึ่งเป็นเรื่องของคนเลี้ยงแพะชาวเอธิโอเปียชื่อคาลดี ในศตวรรษที่ ๙ ที่ค้นพบกาแฟจากการได้กินผลกาแฟหลังจากที่ได้เห็นแพะรู้สึกคึกคะนองขึ้นจากการได้กินผลดังกล่าว หรือจะเป็นเรื่องของบุรุษชื่อโอมาร์ที่ถูกเนรเทศออกจากเมืองโมชา ได้ค้นพบและกินกาแฟเป็นอาหารจนสามารถรอดชีวิตกลับมายังเมืองได้เป็นต้น ซึ่งหลักฐานตำนานส่วนใหญ่ยืนยันถึงถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเอธิโอเปียเป็นหลัก แม้จะมีการยืนยันเช่นนั้น แต่ในเวลานั้นต้นกาแฟส่วนมากมักไม่ได้รับความสนใจใดๆ นักจนกระทั่งชาวอาหรับในเยเมนได้รับเอากาแฟเหล่านั้นไปเผยแพร่ในดินแดนอาระเบีย
คาลดีกับแพะเต้นรำ ภาพเขียนจากตำนานการค้นพบกาแฟจากการที่คาลดีได้กินผลกาแฟหลังจากที่ได้
เห็นแพะรู้สึกคึกคะนองขึ้นจากที่ได้กินผลกาแฟ
    เมื่อกาแฟได้ถูกนำไปเผยแพร่ในดินแดนอาระเบีย ดินแดนที่ดูเหมือนจะตอบรับกาแฟเป็นแห่งแรกคือเยเมน ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๔ ถึงต้นศตวรรษที่ ๑๕ ก่อนที่กาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มในหมู่ประชาชน กาแฟส่วนใหญ่เป็นของรับประทานทางศาสนาของกลุ่มผู้นับถือนิกายซูฟี โดยการเคี้ยวเมล็ดกาแฟเพื่อใช้ขจัดความง่วงในระหว่างการดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงกลางคืน และเพื่อใช้เป็นยาเสริมความสามารถในการเข้าถึงพระเจ้าแม้ว่าจะมีผู้นำทางนิกายคิดนำเมล็ดกาแฟมาปรุงเป็นน้ำกาแฟ แต่ชาวเยเมนก็ไม่ค่อยนิยมดื่มเท่าไร อีกทั้งยังนิยมการรับประทานด้วยวิธีการเคี้ยวเมล็ด หรือไม่ก็นำเปลือกผลกาแฟมาชงเป็นชา และนำมาดื่มร่วมกับใบกาต (Khat)
 เนื่องจากกาแฟเป็นพืชป่าในดินแดนเอธิโอเปียที่ชาวอาหรับต้องการมากขึ้น ทำให้ชาวอาหรับเยเมนนำกาแฟมาปลูกบริเวณเทือกเขาทางตอนเหนือของเยเมนซึ่งไม่เพียงเป็นการนำกาแฟมาตอบสนองความต้องการของผู้คนเท่านั้นพื้นที่ดังกล่าวยังเหมาะสมต่อการปลูกกาแฟอีกด้วย กาแฟที่มีถิ่นกำเนิดมาจากแอฟริกานี้จึงได้ชื่อว่า อาราบิกาŽ เมื่อมันถูกนำเข้าสู่ยุโรปอันจะกล่าวถึงต่อไป การที่กาแฟได้ถูกนำมาปลูกในเยเมนนี้ส่งผลให้เมืองท่ามอคคา (Mocha) ซึ่งเดิมเป็นท่าเรือที่ขนส่งกาแฟไปทั่วอาระเบียและส่งค้าในยุโรปภายหลัง และทำให้เยเมนสามารถผูกขาดการขายกาแฟได้เป็นเวลานานถึง ๒ ศตวรรษครึ่ง ก่อนจะสูญเสียการผูกขาดให้แก่ชาติยุโรป
    ประมาณปี ค.๑๕๐๐ กาแฟได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งคาบสมุทรอาระเบียไปพร้อมกับผู้นับถือนิกายซูฟีทั้งในไคโร ดามัสกัส และเมกกะ ซึ่งผู้ที่ดื่มกาแฟส่วนใหญ่ยังคงจำกัดขอบเขตอยู่แต่ในหมู่ผู้นับถือนิกายนี้ที่มักจะรวมตัวกันดื่มบริเวณศาสนสถานหรือลานกว้างต่างๆ ในช่วงเวลานี้ และเป็นเครื่องดื่มทั่วไปในเวลากลางคืนช่วงเทศกาลรอมดอนกาแฟได้ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับท่านนะบีมะหะหมัด โดยอ้างถึงตำนานต้นกำเนิดของกาแฟ ซึ่งท่านนะบีได้รับเมล็ดกาแฟจากเทวทูตกาเบียลมาเป็นเครื่องดื่มของศาสนาอิสลามแทนที่ไวน์ที่เป็นข้อห้ามทางศาสนาดังจะเห็นได้จากคำว่า กาแฟŽ ในภาษาอาหรับว่า QahwahŽ ที่เป็นคำใช้เรียกแทนคำว่า ไวน์Ž การที่กาแฟได้ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ทำให้การดื่มกาแฟแพร่กระจายไปควบคู่กับการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเช่นอินโดนีเซียก่อนการกระจายกาแฟโดยชาวยุโรป

จากการผูกขาดของอิสลามสู่การค้าเสรีของชาติยุโรป

  กาแฟได้เข้าสู่ยุโรปครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ ผ่านทางการค้าขายระหว่างเวนิสกับแอฟริกาเหนือ อียิปต์ และดินแดนในตะวันออกกลาง แต่ในช่วงแรกของการรับรู้เรื่องเกี่ยวกับกาแฟนั้น ยังคงจำกัดขอบเขตอยู่แต่เฉพาะทางด้านพฤกษศาสตร์และการแพทย์ โดยใช้ในการรักษาอาการปวดตา หูหนวก ปวดเมื่อย และโรคลักปิดลักเปิด อีกทั้งชาวยุโรปที่อยู่ฝ่ายเดียวกับศาสนจักรยังเห็นว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มของปีศาจร้ายที่ลงทัณฑ์พวกมุสลิมไม่ให้สามารถดื่มไวน์อันเป็นเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ได้ จนกระทั่งถึงช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๗ ทางศาสนจักรก็ได้มีการกำหนดสถานะของกาแฟขึ้น พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ ๘ (Clement VIII) ได้ยอมรับเครื่องดื่มนี้หลังจากที่ได้ลิ้มลองตัวอย่างกาแฟที่พ่อค้าชาวเวนิสจัดหามาให้ ทำให้กาแฟเริ่มกลายเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายขึ้นแต่ยังมีบทบาททางสังคมกับอำนาจอยู่น้อย จนกระทั่งผู้แทนการทูตจากออตโตมันได้เดินทางไปยังฝรั่งเศสในปี ค.๑๖๖๕ และ ๑๖๖๖ พร้อมกับการชงเครื่องดื่มนี้แจกจ่ายให้แขกชาวยุโรปในงานราตรีสโมสรที่หรูหราแห่งหนึ่งในปารีส

กาแฟที่เปลี่ยนไปเมื่อเดินทางถึงทวีปอเมริกา

  ขณะที่กาแฟได้สร้างความนิยมในเกาะอังกฤษ แต่การบริโภคกาแฟก็เริ่มพ่ายแพ้ต่อเครื่องดื่มใหม่ที่เดินทางมาจากเอเชียตะวันออก คือ ชา ซึ่งแม้ชาวดัตช์จะเป็นชนชาติแรกๆ ที่นำชาเข้ามาเผยแพร่ในทวีปยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๖ แต่ชาวอังกฤษนั้นได้สร้างจักรวรรดินิยมชาขึ้น มีการแนะนำให้ชาวอังกฤษได้รู้จักกับเครื่องดื่มชนิดนี้ใน ค.๑๖๕๘ ถึงแม้มีการนำเข้าชาจากจีนสู่ยุโรปก่อนกาแฟไม่นานนัก แต่กระนั้นชาในช่วงแรกมีราคาแพงกว่ากาแฟมากจนมีเพียงแต่ชนชั้นสูงในราชสำนักเท่านั้นที่สามารถหาดื่มได้และมีฐานะเป็นยามากกว่าเครื่องดื่มทั่วไป นอกจากนี้ชาที่สั่งจากประเทศจีนนี้ในช่วงแรกๆ ยังเป็นชาเขียวที่ไม่ได้รับความนิยมในทวีปยุโรปเท่าใดนัก จนในสมัยราชวงศ์หมิงที่มีการผลิตชาแดงขึ้น ซึ่งเก็บรักษาได้ง่ายกว่าและมีสารเคมีเจือปนน้อยกว่าชาเขียว เมื่อกาแฟกับช็อกโกแลตได้รับความนิยมมากขึ้นในภาคพื้นทวีปยุโรป อังกฤษจึงกลายเป็นชาติที่นิยมดื่มชามากที่สุดในยุโรป

ผงกาแฟที่เปลี่ยนแปลงการบริโภค

   แม้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะทำให้การดื่มกาแฟมีความพิถีพิถันมากขึ้นในสหรัฐ แต่เทคโนโลยีสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดื่มกาแฟไปทั่วโลก คือ การคิดค้นกาแฟสำเร็จรูป ซึ่งกาแฟนี้เกิดขึ้นจากการดึงน้ำออกจากกาแฟที่ปรุงสำเร็จแล้ว โดยการพ่นผ่านอากาศร้อนให้น้ำระเหยออกไปจนเหลือแต่ผงกาแฟ กาแฟประเภทนี้ได้มีการคิดค้นขึ้นในปี ค.๑๙๐๑ โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในมลรัฐชิคาโกชื่อ ซาโตริ คาโต้ แต่ผู้ที่พัฒนาและทำให้กาแฟสำเร็จรูปเข้าสู่ระบบการค้า คือ จอร์จ คอนสแตนต์ หลุยส์ วอชิงตัน (GeorgeConstantLouis Washington) ภายใต้ชื่อยี่ห้อ จอร์จ วอชิงตัน หรือ G. Washington CoffeeŽ ซึ่งกาแฟของเขาขณะนี้เป็นสินค้าเพียงยี่ห้อเดียวที่เป็นกาแฟสำเร็จรูป แต่เนื่องจากมีกล่าวว่า กาแฟสำเร็จรูปมีคุณภาพด้อยกว่า มีรสชาติแย่ และไม่มีอะไรแปลกใหม่นัก ทำให้กาแฟสำเร็จรูปในช่วงแรกไม่ค่อยได้รับความนิยม ก่อนที่จะมีผู้ผลิตรายอื่นๆ เริ่มผลิตกาแฟสำเร็จรูปมากขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ หลังจากที่กาแฟสำเร็จรูปของเขาสามารถสร้างความนิยมให้แก่ทหารในสนามรบ
 แม้กาแฟสำเร็จรูปของเขาจะได้รับสัมปทานขายเป็นเสบียงให้กับกองทัพสหรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่๑แต่ก็พ่ายแพ้การผูกขาดสัมปทานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒โดยบริษัทที่จะกลายเป็นผู้เผยแพร่กาแฟสำเร็จรูปไปทั่วโลกและสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดื่ม  กาแฟ คือ เนสเล่ (Nestle) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์ ปี ค.๑๘๖๐ โดยชาวเยอรมันชื่อ เฮนรี เนสเล่ (Henri Nestle) ซึ่งในขณะนั้นเขาเป็นเภสัชกรอยู่ ในช่วงแรกๆ บริษัทเนสเล่จะเน้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมอย่างนมผง เนย และอาหารเด็กทารก มีการขยายโรงงานไปตั้งในสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี และสเปน จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมมากขึ้น บริษัทก็ได้ผันตัวไปผลิตนมแทน และต่อมาก็ได้ทำกิจการผลิตช็อกโกแลต แต่ผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้บริษัทเนสเล่มีการย้ายโรงงานผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในแถบละตินอเมริกาอย่างบราซิลที่เป็นแหล่งผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี ค.๑๙๑๗๒๓ จากหลายปัจจัย เช่น ภาวะหนาวเย็นรุนแรงในบราซิล การจำกัดพื้นที่การขนสินค้า และความต้องการสินค้าการเกษตรอื่นๆ แทนที่กาแฟ ในปี ค.๑๙๓๐ เนสเล่แก้ปัญหาราคากาแฟตกต่ำของบราซิล โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟของบริษัท แมกซ์ มอร์เกนธาเลอร์ (Max Morgenthaler) กับผู้ร่วมงานของเขาได้ใช้เวลา ๗ ปี คิดค้นผลิตภัณฑ์กาแฟที่รู้จักไปทั่วโลก คือ เนสคาเฟ่ (Nescafe) หรือเนสกาแฟตามคำพูดติดปากของคนไทย
   แต่เนสกาแฟอาจจะเป็นที่รู้จักช้ากว่านี้หากไม่มีสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น ซึ่งกาแฟสำเร็จรูปยี่ห้อนี้กับอีกหลายยี่ห้อได้แพร่กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลกผ่านการรบของทหารสหรัฐฯขณะที่กาแฟคั่วสดกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่สำคัญเนื่องจากนโยบายการตรึงราคาสินค้าของหน่วยงานจัดการบริหารราคาสินค้า(OfficeofPriceAdministration หรือOPA) ทำให้ราคากาแฟคั่วสดมีราคาถูกกว่าราคาที่ควรเป็นจริง ขณะที่อัตราค่าครองชีพของคนงานในประเทศแถบละตินอเมริกาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรไร่กาแฟไม่สามารถจ่ายค่าแรงให้กับคนงานได้ การดำเนินงานจึงหยุดชะงักลงจากการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้เกษตรกรบางประเทศในอเมริกากลางยังกักตุนเมล็ดกาแฟไว้รอขายในราคาที่ดีกว่าราคาที่ถูกควบคุมนี้ หรือเลือกที่จะขายเมล็ดกาแฟคุณภาพต่ำไปก่อน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพตามที่ผู้บริโภคต้องการมีปริมาณลดลงอย่างมาก         เมื่อ OPA ยกเลิกมาตรการควบคุมราคาสินค้าในปี ค.๑๙๔๖ กาแฟคั่วสดที่มีคุณภาพจึงมีราคาสูงขึ้นอย่างมากอย่างกาแฟจากท่าเรือซานโตสในบราซิลมีราคาสูงถึง ๒๕ เซ็นต์ต่อปอนด์ และราคากาแฟจะมีราคาสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ ตามอัตราเงินเฟ้อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกทั้งในช่วงปี ค.๑๙๔๖๕๐กาแฟจากละตินอเมริกาก็เกิดการขาดแคลนขึ้นจากการที่พื้นดินปลูกกาแฟขาดความอุดมสมบูรณ์และศัตรูพืช นอกจากราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง ๘๐ เซ็นต์ต่อปอนด์ ในปี ค..๑๙๕๐แล้วกาแฟคั่วสดต้องเผชิญการแข่งขันจากเครื่องดื่มชนิดใหม่ที่โด่งดังขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ น้ำอัดลมยี่ห้อโคคาโคลาและเป๊ปซี่ ซึ่งได้แพร่กระจายไปทั่วโลกไปพร้อมกับทหารสหรัฐทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และช่วงสงครามเย็น

สู่ถิ่นกำเนิดตะวันออกกลาง

    นับตั้งแต่โลกได้รู้จักกับกาแฟครั้งแรกในเอธิโอเปีย กาแฟก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวของมันเองและมันก็ได้เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างมาก เมื่อเดินทางเข้าสู่โลกอิสลาม เมล็ดที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาก็ได้เปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มสีดำรสขมทางสังคม ชาวมุสลิมเหล่านั้นก็ได้นำมันส่งต่อไปยังยุโรปผ่านระบบการค้าขายแบบผูกขาด แต่เมื่อกาแฟได้เป็นสิ่งปูทางไปสู่การค้าเสรีของชาวยุโรป ระบบการค้าผูกขาดของชาวตะวันออกกลางก็ไม่สามารถต้านทานต่อระบบใหม่นี้และยังผลักไสให้ดินแดนตะวันออกกลางออกห่างจากการมีส่วนร่วมในการค้าขายกาแฟในระบบการค้าโลก บทบาทของดินแดนตะวันออกกลางที่มีต่อกาแฟจึงคงเหลือแต่สถานภาพการเป็นผู้บริโภคกาแฟจากภายนอกดินแดน ทุกวันนี้เยเมนซึ่งครั้งหนึ่งเป็นอดีตแหล่งผูกขาดผลิตกาแฟแห่งเดียวของโลก ยังคงมีการผลิตกาแฟอาราบิกาอยู่ แต่มีปริมาณที่น้อยมากจนไม่อาจจะเทียบกับกาแฟจากบราซิลได้ทั้งที่เป็นชนิดสายพันธุ์เดียวกันแม้ว่ากาแฟแบบเตอร์กิช คอฟฟี่สมัยจักรวรรดิออตโตมันที่มีลักษณะเหมือนโคลนเหลวๆ ยังเป็นที่นิยมอยู่ในดินแดนตะวันออกกลางหลายประเทศอย่างอิหร่าน ตุรกี และซาอุดีอาระเบียแต่ก็มีการใส่น้ำตาลลงไปผสมในกาแฟนี้ด้วยซึ่งสิ่งนี้ยังคงยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงการดื่มกาแฟที่เป็นผลจากการค้าเสรีในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ตามครัวเรือนต่างๆ ก็อาจจะมองเห็นกระป๋องหรือขวดโหลใส่กาแฟสำเร็จรูปไร้สารคาเฟอีน ซึ่งมีที่มาจากการขยายกิจการการค้าของบริษัทผลิตกาแฟของสหรัฐ ที่มาพร้อมกับกระแสแนวคิดบริโภคนิยมและการสร้างความนิยมยี่ห้อสินค้าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประวัติ"เมล็ดกาแฟ"       กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันทั่วทุกมุมโลก หลายชาติจะมีสไตล์เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นของตัวเองตั้งแต...